Background



ระเบียบ/ข้อบังคับ ชมรม
ระเบียบข้อบังคับชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขอำเภอวิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี
10 มิถุนายน 2566

0


https://drive.google.com/file/d/1bQCA_Id6YvrdL6zF_b612K2aVORFb9wA/view

ข้อบังคับ
ระเบียบข้อบังคับชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขอำเภอวิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี

-----------------------------------------------
หมวดทั่วไป
ข้อที่ 1 ชมรมนี้มีชื่อว่า  “ ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขอำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ข้อที่ 2. ชมรมใช้ตัวย่อว่า ชมรม อสม. อำเภอวิภาวดี อำเภอวิภาวดี จ. สุราษฎร์ธานี
ข้อที่ 3. ชมรมมีที่ตั้งทำการ คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวิภาวดี ต. ตะกุกเหนือ อ.วิภาวดี จ. สุราษฎร์ธานี
ข้อที่ 4. เครื่องหมายของชมรมเป็นรูปสัญลักษณ์ สาธารณสุขมูลฐาน ของกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อยู่ในวงกลม โดยมีคำว่า ชมรม อสม อำเภอวิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี อยู่ในวงกลม
ข้อที่ 5.  เครื่องแบบของชมรม ให้ใช้เสื้อ ซาฟารี สีเทา                                         
หมวดที่ 2
วัตถุประสงค์
ข้อที่ 6. เป็นศูนย์รวมของความคิดในการสร้างสรรค์ สังคมด้านสุขภาพอนามัยในชุมชน
ข้อที่ 7. ส่งเสริมสนับสนุนความก้าวหน้า ชื่อเสียงและเกียรติคุณของอาสาสมัครสาธารณสุข
ข้อที่ 8. ส่งเสริมความสามัคคีในกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขมูลฐาน และกลุ่มองค์กรอื่นๆ ในชุมชน
ข้อที่ 9.  พัฒนาสุขภาพอนามัย คุณธรรม จริยธรรม และเศรษฐกิจ ของประชาชน
ข้อที่ 10. สนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข และสนับสนุนเผยแพร่กิจกรรมงานสุขภาพภาคประชาชน
ข้อที่  11. เพื่อช่วยเหลือสังคมและบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
ข้อที่ 12. ช่วยเหลือสมาชิกในด้านสวัสดิการตามที่กำหนด
ข้อที่ 13.จัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้ด้านสาธารณสุข
ข้อที่ 14. ร่วมสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
                                                          หมวดที่ 3.
                                                          สมาชิก
ข้อที่ 15. สมาชิกชมรม ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขที่ได้ผ่านการอบรมด้านสาธารณสุข และทางราชการรับรองแล้ว และมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอวิภาวดี จ. สุราษฎร์ธานี
ข้อที่ 16. การสมัครเป็นสมาชิก
             ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิก ต้องสมัครที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพที่ดูแลรับผิดชอบเขตพื้น โดยยื่นใบสมัครตามแบบของชมรม จากนั้นจะมีการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะ -
กรรมการระดับอำเภอ เพื่อพิจารณาอนุมัติ การสมัครนั้น ซึ่งคณะกรรมการระดับอำเภอมีอำนาจวินิจฉัยการรับเข้าเป็นสมาชิก โดยมติที่ประชุมต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม
          เมื่อคณะกรรมการลงมติอนุมัติแล้ว ให้เลขานุการแจ้งผลการรับเข้าเป็นสมาชิกให้ผู้สมัครทราบ และผู้สมัครจะต้องจ่ายเงินค่าบำรุงชมรมฯ ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการรับสมัคร มิฉะนั้นจะถือว่ายกเลิกการสมัครในครั้งนั้น การเป็นสมาชิกภาพจะเริ่มต้นในวันที่ผู้สมัครชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงชมรมเรียบร้อยแล้ว
ข้อที่ 17. ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงของสมาชิก
          สมาชิกชำระค่าบำรุงสมาชิก 40 บาท จังหวัด 20 บาท เพื่อนช่วยเพื่อน 40 บาท จนกว่าจะมีมติของคณะกรรมการระดับอำเภอเปลี่ยนแปลง
          สมาชิกชำระค่าบำรุงปีต่อๆไป ในระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม ของทุกปี ได้ที่ทำการชมรมหรือเหรัญญิกแต่ละสถานบริการเพื่อรวบรวมให้เหรัญญิกอำเภอต่อไป โดยจะมีใบสำคัญรับเงินของชมรมไว้เป็นหลักฐานเมื่อสมาชิกได้ชำระแล้ว
ข้อที่ 18.สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
          18.1 มีสิทธิเข้าใช้สถานที่โดยเท่าเทียมกัน
          18.2มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของชมรมต่อคณะกรรมการ
          18.3  มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น
          18.4  มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของชมรม
          18.5  สมาชิกมีสิทฺธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้งแต่งตั้งเป็นกรรมการของชมรมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 เสียง
          18.6  มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเอกสาร และบัญชีทรัพย์สินของชมรม
          18.7  มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของชมรม
          18.8  มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการต่างๆของชมรม
          18.9  มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น
          18.10. มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของชมรมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ข้อที่ 19 การขาดจาการเป็นสมาชิก
          19.1 ตาย
          19.2 ลาออก สมาชิกที่มีความประสงค์จะลาออกต้องทำหนังสือยื่นต่อคณะกรรมการชมรม โดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร
          19.3  ลาออกจากการเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข
          19.4  คณะกรรมการชมรมระดับอำเภอมีมติให้ออกจากทะเบียนสมาชิกด้วยเหตุต่อไปนี้
                   19.4.1  ถูกจำคุกถูกศาลสั่งให้ล้มละลาย ไร้ความสามารถหรือเสมือนหนึ่งไร้ความสามารถ
                   19.4.2 ประพฤติตนในทางที่เป็นปฏิปักต่อชมรม หรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรม
                   19.4.3 ค้างชำระค่าบำรุงชมรมติดต่อกันในเวลา 1 ปี
                   19.4.5 ขาดการประชุมประจำเดือนของหน่วยบริการที่รับผิดชอบเป็นเวลา 3 ครั้งติดต่อกัน หรือขาดการประชุมครึ่งหนึ่งของการประชุมทั้งหมดของแต่ละหน่วยบริการ และมติที่ประชุมคณะกรรมการชมรมให้ออก
          19.5 โดยคำสั่งนายแพทย์สาธารณสุขสุราษฎร์ธานี
19.5  ผู้ที่ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพย่อมหมดสิทธิเรียกร้องผลประโยชน์จากชมรมทุกประเภท
                                                หมวดที่ 4
                                      การบริหารงานของชมรม
ข้อที่ 20  ให้คณะกรรมการบริหารระดับอำเภอทำหน้าที่บริหารกิจการของชมรมจำนวนไม่เกิน 15 คน ซึ่งได้ดำเนินการเลือกตั้งจากสมาชิกชมรม อสม อำเภอวิภาวดี จ. สุราษฎร์ธานี โดยทำหน้าที่ ประธานชมรม 1 คน  รองประธาน 2 คน เหรัญญิก 1 คน สำหรับตำแหน่งของคณะกรรมการชมรมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังนี้
          20.1 ประธานในที่นี้ คือ ประธานคณะกรรมการบริหารชมรม อสม มีหน้าที่ในการบริหารชมรม เป็นตัวแทนของชมรม ในการติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ  และการประชุมใหญ่
          20.2 รองประธาน ทำหน้าที่ เป็นผู้ช่วยประธานคณะกรรมการบริหาร ชมรมในการบริหารกิจการปฏิบัติตามที่ประธานชมรมได้มอบหมาย และทำหน้าที่แทนประธานชมรม เมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สาสมารถ
ปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยทำหน้าที่แทนประธาน ตามลำดับตำแหน่ง
          20.3  เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการติดต่อสมาชิกและบุคลากรภายนอกในกิจการทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของชมรม นัดหมายการประชุมและจัดทำระเบียบวาระการประชุมและจัดทำระเบียบการประชุม บันทึกการประชุม เสนอรายงานแสดงกิจกรรมชมรมต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี และกิจกรรมอื่น ๆ ตามที่ประธานหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย และมีผู้ช่วยเลขานุการ 1 คน ทำหน้าที่ช่วยเหลือ ในการปฏิบัติงาน
          20.4  เหรัญญิก  มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการเงิน การทำบัญชีงบดุล เสนอคณะกรรมการบริหาร และเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ประจำปี รักษาหลักฐานการเงิน และทรัพย์สินของชมรมให้เป็นไปตามระเบียบของชมรมที่กำหนด และมีผู้ช่วยเหรัญญิก 2 คน ทำหน้าที่ช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน
          20.5  นายทะเบียน มีหน้าที่จัดทำทะเบียนสมาชิก และประวัติสมาชิกชมรมทั้งหมด
          20.6 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ เผยแพร่กิจกรรมและผลง่านของชมรมและของสมาชิก เป็นโฆษกของชมรม ช่วยจัดทำจดหมายข่าว หรือจุลสารของชมรม
          20.7 ปฏิคม มีหน้าที่ จัดหาทุนสำรอง สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรม จัดการประชุมใหญ่ประจำปีและการประชุมอื่น ๆ นอกเหนือจากการประชุมคณะกรรมการบริหาร
          20.8 คณะกรรมการมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ  4 ปี
ข้อที่ 21. ถ้ามีตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุ ใด ๆ ให้คณะกรรมการชุดใหญ่คัดเลือกสมาชิกชมรม เพื่อแทนตำแหน่งที่ว่างลง หรือจะเลือกตั้งในวันประชุมใหญ่ทดแทน ก็ได้ ถ้าหากมีคณะกรรมการบริหารชมรมครบองค์ประชุม และคณะกรรมการเห็นว่าสามารถบริหารชมรมได้ คณะกรรมการผู้ได้รับการแต่งตั้งแทนนั้นจะดำรงตำแหน่งได้เท่าวาระของผู้ที่ตนแทน
                                                          หมวดที่ 5
                                                          การประชุม
ข้อที่ 22  ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปี ละ 1 ครั้ง ภายในเดือน มีนาคม ของทุกปีเพื่อพิจารณาระเบียบวาระต่อไปนี้
          22.1 พิจารณารายงานเกี่ยวกับกิจกรรมของชมรมในรอบปีที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการชมรม ฯ
          22.2 พิจารณาอนุมัติบัญชีงบดุลสำหรับปีที่ผ่านมา
          การประชุมใหญ่ สามัญประจำปีจะต้องมีสมาชิกเข้าร่วมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 90 คน จึงถือว่าครบองค์ประชุม เมื่อถึงกำหนดการประชุมถ้ามีสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้เลื่อนการประชุมออกไป โดยให้จัดประชุมใหม่ขึ้นภายใน 15 วัน นับแต่ทีมีการเลื่อนการประชุม ซึ่งการประชุมครั้งหลังนี้ ไม่ว่าจะมีสมาชิกมาประชุมจำนวนเท่าใด ก็ถือว่าครบองค์ประชุม
ข้อที่ 23  การประชุมคณะกรรมการบริหารชม เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับกิจการต่าง ๆ ของชมรมอย่างน้อย 2 เดือน ต่อ 1 ครั้ง หรือถ้ามีกรณีพิเศษ ประธานเห็นสมควรอาจนัดประชุมเร็วกว่านี้ ก็ได้ หรือประธานอาจเรียก ประธานอสม ของแต่ละหมู่บ้านเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการด้วย
ข้อที่ 24 การประชุมพิเศษ คณะกรรมการบริหารอาจเรียกประชุมพิเศษได้ เมื่อเห็นสมควร หรือโดยการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรจากสมาชิก อย่างน้อย 20 คน
                                                          หมวดที่ 6
                                                 การเงินและทรัพย์สิน
ข้อที่ 25  ให้คณะกรรมการบริหารรับผิดชอบ ในการเงินและทรัพย์สินของชมรมตามระเบียบนี้
          25.1  เงินของชมรมจะนำไปฝากธนาคารไว้ และจะต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการชมรม
          25.2  ให้เหรัญญิกมีหน้าที่รวบรวมทำงบประมาณ รายรับ-รายจ่ายประจำปีของชมรม และจัดทำงบประมาณรายรับ-รายจ่ายประจำเดือน นำเสนอในการประชุมคณะกรรมการบริหารทุกครั้ง
ข้อที่ 26. เงินหมวดรายจ่ายอื่น ๆ ได้แก่ งบฉุกเฉิน ค่าพิมพ์เอกสารเผยแพร่ความรู้
ข้อที่ 27. เงินหมวดรายค่าใช้สอย ได้แก่ ค่าส่งเอกสาร ,ค่าเลี้ยงรับรอง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าใช้สอยอื่น ๆ
ข้อที่ 28 การเบิกเงินธนาคารให้ประธานมี อำนาจสั่งจ่ายเงินได้ไม่เกิน 10,000 บาท ถ้าเกินจากนี้ ให้เป็นอำนาจคณะกรรมการบริหาร และประธานมีอำนาจสั่งจ่ายเงินทดรองได้ เมื่อมีการเสียชีวิตของสมาชิก หรือญาติของสมาชิก
ข้อที่ 29 การเบิกเงินธนาคาร ให้ บุคคลผู้มีอำนาจเบิก- จ่าย จำนวน 2 ใน 3 เป็นผู้ลงนามเบิกเงิน
                                                          หมวดที่ 7
                                                การจ่ายเงินสวัสดิการแก่สมาชิก
ข้อที่ 30 ชมรมจะเรียกค่าฌาปนกิจสงเคราะห์เก็บจากสมาชิก เพื่อจ่ายเป็นเงินสวัสดิการแก่สมาชิก ประกอบด้วย
30.1 กรณีสมาชิกเสียชีวิต จัดเก็บจากสมาชิกคนละ 100 บาทต่อศพ โดยเก็บสำรองเงินไว้ จำนวน  2 ศพ
30.2 กรณีคู่สมรส บุตร เสียชีวิต จัดเก็บจากสมาชิกคนละ 50 บาทต่อศพ โดยเก็บสำรองเงินไว้ จำนวน  2 ศพ
ซึ่งค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ จะมีผลบังคับให้แก่สมาชิก เมื่อสมาชิกมีการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว
ข้อที่ 31 หลักการจ่ายสวัสดิการค่าฌาปนกิจสงเคราะห์แก่สมาชิกหรือผู้รับสวัสดิการ โดยยึดถือตามจำนวนยอดสมาชิกที่มีการชำระค่าฌาปนกิจสงเคราะห์เรียบร้อยแล้ว ณ เดือนปัจจุบัน
31.1 กรณีสมาชิกเสียชีวิต ชมรมจ่ายเป็นเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ตามข้อ 30.1 และข้อ 31 ให้แก่ทายาทโดยชอบธรรม พร้อมพวงหรีด 1 พวงราคา ไม่เกิน 1,000 บาทซึ่งหักจากยอดค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ก่อนมอบแก่ผู้รับสวัสดิการ และร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลศพ 1 คืน  
สำหรับการตั้งบำเพ็ญกุศลศพที่อยู่นอกอำเภอวิภาวดี ให้คณะกรรมการบริหารชมรมพิจารณาถึงการร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญกุศลศพ และค่ายานพาหนะในการไปร่วมบำเพ็ญกุศลศพซึ่งหักจากยอดค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ก่อนมอบแก่ผู้รับสวัสดิการ
31.2 กรณีคู่สมรสหรือบุตร ของสมาชิกเสียชีวิต ชมรมจ่ายเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ข้อ 30.2 และ ข้อ 31 แก่สมาชิกที่สูญเสียคู่สมรสหรือบุตร พร้อมพวงหรีด 1 พวงราคาไม่เกิน 1,000 บาทซึ่งหักจากยอดค่าฌาปนกิจสงเคราะห์ก่อนมอบแก่สมาชิกที่สูญเสียคู่สมรสหรือบุตร
 คู่สมรส หมายถึง คู่สามีภรรยาที่มีการจดทะเบียนสมรส หรือคู่สามีภรรยาโดยพฤตินัยซึ่งคณะกรรมการบริหารชมรมพิจารณา
บุตร หมายถึง บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อที่  32 ในการขอรับเงินสวัสดิการ จะต้องแจ้งเอกสารดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของสมาชิกหรือผู้รับสวัสดิการ พร้อมรับรองสำเนา
- สำเนามรณะบัตร พร้อมรับรองสำเนา
 
                                                            หมวดที่ 8
                                                คณะกรรมการบริหารชมรม ฯ
ข้อที่ 33 คณะกรรมการบริหารชมรม อสม. อำเภอวิภาวดี รวมกันไม่เกินจำนวน 15 คน และดำรงตำแหน่งวาระคราวละ 2 ปี ประกอบด้วย
33.1  ประธานเขตบริการ        จำนวน 4 คน
33.2  คณะกรรมการโดยการคัดเลือกจากประธานเขตบริการ จำนวน 11 ราย จำแนกดังนี้
-เขตบริการโรงพยาบาลวิภาวดี                                จำนวน 4 ราย
-เขตบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะกุกเหนือ     จำนวน 4 ราย
-เขตบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตะกุกใต้        จำนวน 2 ราย
-เขตบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคลองใส   จำนวน 1 ราย
 
ข้อที่ 34. หลักเกณฑ์การคัดเลือกประธาน
          34.1 ประธานชมรม อสม. ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน
                   ผู้มิสิทธิสมัครคือ  อสม.ในหมู่บ้าน/ชุมชน นั้น
                    ผู้มีสิทธิออกเสียงคัดเลือกคือ อสม. ในหมู่บ้าน/ชุมชน นั้น
                   โดยกำหนดให้หมดวาระ ในเดือน สิงหาคม ในปีที่กำหนดหมดวาระ
34.2 ประธานเขตบริการ
                   ผู้มิสิทธิสมัครคือ ประธานชมรม อสม. ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน  ในเขตบริการนั้น
                    ผู้มีสิทธิออกเสียงคัดเลือกคือ ประธานชมรม อสม. ระดับหมู่บ้าน/ชุมชน  ในเขตบริการนั้น
                   โดยกำหนดให้หมดวาระ ในเดือน กันยายน ในปีที่กำหนดหมดวาระ
          34.3 ประธานอำเภอวิภาวดี
ผู้มิสิทธิสมัครคือ ประธานชมรม อสม. เขตบริการ
                    ผู้มีสิทธิออกเสียงคัดเลือกคือ ประธานชมรม อสม. เขตบริการ
                   โดยกำหนดให้หมดวาระ ในเดือน ตุลาคม ในปีที่กำหนดหมดวาระ
ข้อที่ 35. รูปแบบการคัดเลือก ให้ใช้การลงคะแนนลับ
ข้อที่ 36 ตำแหน่งประธานว่างลง
สมาชิกคนใดดำรงตำแหน่งประธานและมีเหตุให้ออกจากประธาน จะส่งผลให้ตำแหน่งประธานหรือตำแหน่งกรรมการที่สูงกว่าทุกระดับที่ได้มาโดยตำแหน่งประธานที่ลาออกนั้น สิ้นสุดลงด้วย
หากตำแหน่งประธานใดๆว่างลง ให้ดำเนินการคัดเลือกใหม่ตามข้อที่ 34 และข้อที่ 35  โดยให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานแทนตำแหน่งว่างนั้น นับเวลาการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจากประธานคนแรกผู้เริ่มวาระนั้นๆ และให้ดำรงตำแหน่งจนครบวาระของประธานคนแรกผู้เริ่มวาระนั้นๆ
ข้อที่ 37. ประธานหรือกรรมการ เมื่อหมดวาระลง สามารถได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นประธานหรือกรรมการได้อีก
                                                          หมวดที่ 9
                                                การเลิกชมรมและการชำระหนี้สิน
ข้อที่ 38 การเลิกชมรมจะกระทำได้โดยสมาชิกลงคะแนนเสียงในที่ประชุมมีจำนวนไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมทั้งหมดด้วยวิธีลงคะแนนลับ
ข้อที่ 39  การชำระหนี้ เมื่อเลิกชมรม ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้ในเวลานั้น หากมีทรัพย์สินเหลืออยู่ให้จัดการไปตามมติคณะกรรมการบริหารเห็นสมควร
                                                          หมวดที่ 10
                                                       บทเฉพาะกาล
ข้อที่ 40  ให้คณะกรรมการบริหารชุดนี้ บริหารชมรม จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2562
ข้อที่ 41. ให้คณะกรรมการชุดนี้ สามารถแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ฯ ในระหว่างดำเนินการได้ตามความเหมาะสม
                                               
ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 20 มีนาคม 2559 เป็นต้นไป
                                                         

                                                                   (นางธัญพร สุขอินทร์)
                                                   ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขอำเภอวิภาวดี